ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: ตกขาว (Leukorrhea หรือ Vaginal Discharge)  (อ่าน 27 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 170
  • เครื่องจักรอุตสาหกรรม,สินค้าอุตสาหกรรม
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: ตกขาว (Leukorrhea หรือ Vaginal Discharge)
« เมื่อ: วันที่ 9 ตุลาคม 2024, 20:43:27 น. »
หมอออนไลน์: ตกขาว (Leukorrhea หรือ Vaginal Discharge)

ตกขาว (Leukorrhea หรือ Vaginal Discharge) คือ อาการที่มีเมือกเหลวไหลออกมาจากช่องคลอดของผู้หญิงโดยไม่ใช่เลือดประจำเดือน เมือกนี้ถูกขับออกจากปากมดลูกมายังช่องคลอด เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้บริเวณช่องคลอดและช่วยป้องกันการติดเชื้อภายในช่องคลอด

โดยตกขาวปกติจะมีสีขาวหรือใสและไม่มีกลิ่นเหม็น ส่วนตกขาวที่มีสีเทา สีเขียว สีเหลือง สีชมพู หรือมีเลือดปน และส่งกลิ่นเหม็นคล้ายเนื้อเน่า อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นภายใน


อาการของตกขาว

ตกขาวที่ปกติและตกขาวที่ผิดปกติมีลักษณะดังต่อไปนี้

ตกขาวปกติ

    มีสีขาวหรือใส และไม่มีกลิ่นเหม็น
    ตกขาวจะใสและมีปริมาณมากในช่วงวันที่มีการตกไข่ ส่วนในช่วงที่เป็นประจำเดือน ตกขาวจะหนาและเหนียวข้น
    ในระหว่างการตั้งครรภ์ ผู้หญิงจะมีตกขาวมากกว่าปกติ
    หลังวัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงจะมีตกขาวน้อยลง

ตกขาวที่ผิดปกติ

    มีสีที่ต่างไปจากเดิม เช่น สีเทา สีเขียว สีเหลือง สีชมพู สีน้ำตาลหรือตกขาวมีเลือดปน และมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ คล้ายกลิ่นเนื้อหรือปลาเน่า
    ตกขาวเป็นก้อนหนา หรือมีตกขาวมากผิดปกติ
    มีอาการอื่นปรากฏร่วมกับตกขาว เช่น มีอาการคันหรือเจ็บปวดบริเวณปากช่องคลอด เจ็บปวดตอนปัสสาวะ มีเลือดที่ไม่ใช่ประจำเดือนไหลออกจากช่องคลอด


สาเหตุของตกขาว

ตกขาวเป็นเมือกที่ถูกขับจากปากมดลูกให้ไหลมายังช่องคลอด เพื่อหล่อลื่นสร้างความชุ่มชื้นและช่วยป้องกันการติดเชื้อ

ตกขาวที่ผิดปกติมักเป็นผลมาจากการติดเชื้อและอาการป่วยต่าง ๆ ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบ อย่างโรคหนองในแท้หรือโรคหนองในเทียม การแพร่กระจายของเชื้อรา ทำให้เกิดโรคเชื้อราในช่องคลอด การติดเชื้อไวรัสทำให้เกิดเริมที่อวัยวะเพศ ปรสิตที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ทำให้เกิดการติดเชื้อทริโคโมนาส

ส่วนอาการตกขาวผิดปกติที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาจเกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องคลอดหรือปากมดลูก การแพ้สารเคมี เช่น สารจากผ้าอนามัย หรือถุงยางอนามัย การสวนล้างช่องคลอด การเกิดติ่งเนื้อที่ปากมดลูก

การสังเกตลักษณะตกขาวและอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับการมีตกขาวที่ผิดปกตินั้น อาจทำให้ทราบสาเหตุของการป่วยเบื้องต้นได้ ดังนี้

    ตกขาวสีขาวขุ่นหรือเทา มีกลิ่นคาวปลา เป็นเมือกบางและเปียกและมักไม่พบอาการเจ็บป่วยอื่นร่วมด้วย อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและป่วยเป็นภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis) ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด ไม่ใช่การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แต่การมีเพศสัมพันธ์ภายหลังการติดเชื้ออาจทำให้อาการป่วยแย่ลงได้
    ตกขาวสีขาว มีลักษณะเป็นแป้งหนา และมีอาการคัน หรืออาจเจ็บปวดบริเวณช่องคลอดร่วมด้วย แต่มักไม่มีกลิ่นเหม็น อาจเป็นตกขาวจากเชื้อราหรือโรคเชื้อราในช่องคลอด และไม่ใช่การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
    ตกขาวสีชมพู อาจเป็นการหลุดลอกของเยื่อบุมดลูกหลังคลอด
    ตกขาวสีเขียว สีเหลือง อาจมีอาการเจ็บปวดและคันรอบช่องคลอด เจ็บปวดขณะปัสสาวะและขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ การเป็นหนองในแท้ หนองในเทียม
    ตกขาวแบบมีฟอง อาจเกิดจากการติดเชื้อทริโคโมนาส
    ตกขาวแบบมีเลือดปน และมีความเจ็บปวด ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน เจ็บปวดขณะปัสสาวะและขณะมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดจากประจำเดือนมาไม่ปกติ มะเร็งเยื่อบุมดลูก หรือมะเร็งปากมดลูก
    ตกขาวร่วมกับตุ่มบวมแดง หากมีตุ่มบวมแดงรอบอวัยวะเพศ อาจเป็นเริมที่อวัยวะเพศ


การวินิจฉัยตกขาว

อาการตกขาวเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายเพศหญิง แต่หากพบว่ามีตกขาวที่ผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะซักประวัติสุขภาพ การรักษา การใช้ยา การเจ็บป่วยที่ผ่านมาหรือที่เป็นอยู่ ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ และสอบถามเกี่ยวกับอาการตกขาวที่พบ เช่น สีและกลิ่นของตกขาว อาการที่พบร่วมกับตกขาว อย่างอาการคัน เจ็บปวด หรือมีแผลบริเวณช่องคลอด และช่วงเวลาที่เริ่มมีตกขาวผิดปกติ

หากพบสัญญาณความผิดปกติ แพทย์จะตรวจร่างกายภายใน แล้วจึงนำตัวอย่างตกขาวไปตรวจ หรืออาจใช้วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Test) ในกรณีที่สงสัยว่าอาจป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางช่องคลอด เพื่อป้ายเซลล์จากบริเวณปากมดลูกแล้วส่งตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อหาการติดเชื้อ


การรักษาตกขาว

อาการตกขาวผิดปกติต้องรักษาที่สาเหตุและโรคที่ป่วย ทั้งการรักษาด้วยยาเฉพาะทางหรือการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับอาการป่วยและความรุนแรงของโรค แต่โดยทั่วไปตกขาวมักเกิดจากการติดเชื้อประเภทแบคทีเรียหรือเชื้อราในช่องคลอดซึ่งรักษาให้หายขาดได้ โดยมีการรักษาเบื้องต้นดังต่อไปนี้
ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย และการติดเชื้อปรสิตทริโคโมนาส

แพทย์จะรักษาด้วยการจ่ายยาปฏิชีวนะในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน หรือครีมทาภายในช่องคลอด โดยใช้ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) หรือทินิดาโซล (Tinidazole) ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของทั้งปรสิตและแบคทีเรีย

การใช้ยาปฏิชีวนะควรอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือในขณะที่กำลังตั้งครรภ์


การอักเสบจากเชื้อรา

ใช้ยาต้านเชื้อราชนิดสอดเข้าไปในช่องคลอด มีทั้งรูปแบบครีม ยาเหน็บ ตัวยาที่ใช้ ได้แก่ โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ส่วนยารับประทานใช้ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) เพื่อยับยั้งทำลายเชื้อราและกระบวนการสร้างเซลล์ของเชื้อรา

หากอาการตกขาวแสดงถึงการติดเชื้อรา สามารถใช้ยารักษาเชื้อราแบบครีม หรือเหน็บช่องคลอดที่ซื้อได้ตามร้านขายทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่หากรักษาไม่หายและอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
ภาวะแทรกซ้อนของตกขาว

ตกขาวที่ผิดปกติอาจมีอาการที่แสดงออกมาเนื่องจากการติดเชื้อและการเจ็บป่วยของโรค เช่น

    คัน บวม เจ็บปวด หรือมีแผลบริเวณช่องคลอดและปากช่องคลอด
    มีเลือดที่ไม่ใช่เลือดประจำเดือนไหลออกมาจากช่องคลอด
    เจ็บปวดในขณะปัสสาวะ ปวดบริเวณท้องน้อย
    เจ็บปวดในขณะมีเพศสัมพันธ์
    การติดเชื้ออาจแพร่จากแม่สู่ลูกได้ในการคลอด
    การติดเชื้ออาจแพร่ลามไปยังอวัยวะในระบบสืบพันธุ์อื่น ๆ อาจทำให้เกิดภาวะมีลูกยาก
    การติดเชื้ออาจทำให้เกิดการอักเสบลุกลาม เรื้อรัง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงในระบบสืบพันธุ์ เช่น มดลูก และรังไข่
    ตกขาวที่เกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในมดลูกหรือช่องคลอด อาจนำไปสู่อาการช็อกเฉียบพลันจากการที่พิษเข้าสู่กระแสเลือด (Toxic Shock Syndrome) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

การป้องกันการเกิดตกขาว

สามารถป้องกันการเกิดตกขาวที่ผิดปกติได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงและลดโอกาสการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ เช่น

    รักษาความสะอาดช่องคลอดและอวัยวะเพศอยู่เสมอ
    ล้างช่องคลอดด้วยน้ำและสบู่อ่อน ๆ ที่ไม่ทำให้เกิดการอักเสบระคายเคือง
    สวมใส่กางเกงชั้นในที่สะอาด ทำจากผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่หนาและไม่อับชื้น
    ไม่ใช้สบู่หอม สเปรย์พ่น ฟองสบู่ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีชนิดต่าง ๆ เพื่อล้างสวนช่องคลอด
    ทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์ก่อนการใช้งานเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และล้างทำความสะอาดห้องน้ำอยู่เสมอเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค

หากผู้ป่วยมีอาการตกขาวผิดปกติโดยมีสาเหตุจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อีกหนึ่งวิธีการป้องกันการติดเชื้อซ้ำภายหลังการรักษาจนหายดีแล้วคือให้คู่นอนเข้ารับการรักษาการติดเชื้อดังกล่าวด้วย