โรคปอดอักเสบ (Pnemonia) เกิดจากอะไร ?โรคปอดอักเสบ (Pnemonia) หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ ปอดบวม เป็นหนึ่งในโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย, เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา แต่ที่พบโดยส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pneumonia หรือเชื้อนิวโมคอคคัส
ปอดอักเสบอันตรายแค่ไหน?
ความรุนแรงของโรคปอดอักเสบจะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุ บางรายอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต เยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมไปถึงการติดเชื้อนิวโมคอคคัสทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาและนอนโรงพยาบาล
“การติดเชื้อนิวโมคอคคัส ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ แม้ว่าจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม
หรือได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดแล้วก็ตาม ดังนั้นการใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคจากเชื้อนิวโคคอคคัส จึงมีความสำคัญ”
ใครบ้างที่เสี่ยง… ปอดอักเสบ
โรคปอดอักเสบเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากมีปัจจัยเสริมดังต่อไปนี้ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
ผู้ที่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ
ผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง
ผู้ที่เป็นโรคหัวใจวายเรื้อรัง
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
ผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง หรือ อยู่ระหว่างการรับยาเคมีบำบัด
ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ผู้ป่วยบางกลุ่มที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง
ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังและมีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ
ป้องกันปอดอักเสบด้วย “วัคซีน”
เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของเชื้อปอดอักเสบนั้นมีมากกว่า 90 สายพันธุ์ นอกจากจะทำให้เกิดโรคปอดอักเสบแล้วก็ยังสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อที่เยื้อหุ้มสมอง และการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ซึ่งการฉีดวัคซีนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรค และลดอัตราจากการเสียชีวิตลงได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอย่าง โรคเบาหวาน โรคหัวใจวายเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง ผู้ที่ดื่มสุรา สูบบุหรี่ และในผู้สูงอายุ
วัคซีนที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
วัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ 23 สายพันธุ์ (Polysaccharide Vaccine, PPSV23) เป็นวัคซีนครอบคลุมเชื้อแบคทีเรีย นิวโมคอคคัส 23 สายพันธุ์ ที่ก่อให้เกิดโรคส่วนใหญ่รวมถึงสายพันธุ์ที่มักจะดื้อยา
วัคซีนชนิดคอนจูเกต 13 สายพันธุ์ (Conjugate Vaccine, PCV 13 ) เป็นวัคซีนครอบคลุมเชื้อแบคทีเรีย นิวโมคอคคัส 13 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคส่วนใหญ่
ใครบ้างที่ควรได้รับวัคซีน
ผู้ที่มีอายุ 19 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และเตรียมตัวที่จะเดินทางไปยังต่างประเทศ
ผู้ที่มีอายุ 19-59 ปี ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจวายเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง หรือผู้ที่ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่ ซึ่งไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสมาก่อน
ผู้ที่มีอายุ 19-59 ปีที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ป่วยที่ไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานบกพร่อง
ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคน