หมอประจำบ้าน: แผลพุพอง (Impetigo/Ecthyma)แผลพุพอง เป็นการอักเสบของผิวหนังแบบหนึ่งซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักพบในทารกและเด็กวัยเรียนที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดี ไม่ค่อยดูแลความสะอาดของตัวเอง หรือมีบาดแผลเล็กน้อยก็ปล่อยปละละเลย โรคนี้ติดต่อกันง่ายภายในบ้าน สถานเลี้ยงเด็ก และโรงเรียน
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัสออเรียส หรือสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. แผลพุพองชนิดตื้น (impetigo) เป็นการติดเชื้อของหนังกำพร้าชั้นนอกสุด (stratum corneum) เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ขาดการรักษาความสะอาด และไม่ใส่ใจดูแลบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและรวดเร็ว ติดต่อโดยการสัมผัสถูกผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่ก่อน หรือสัมผัสถูกเชื้อที่ปนเปื้อนตามสิ่งของเครื่องใช้ที่ผู้ป่วยสัมผัส เชื้อจะเข้าสู่ผิวหนังทางรอยถลอก
2. แผลพุพองชนิดลึก (ecthyma) เป็นการติดเชื้อลึกถึงชั้นหนังแท้ มักพบในเด็กวัยเรียนหรือผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักรักษาความสะอาด ผิวหนังสกปรก ไว้เล็บยาว ไม่ใส่ใจดูแลบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น รอยถลอกรอยขีดข่วน รอยแผลจากยุง แมลงกัด หรืออาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น หิด เหา อีสุกอีใส เริม งูสวัด ผื่นแพ้ ผื่นคัน เป็นต้น
อาการ
1. แผลพุพองชนิดตื้น แสดงอาการได้ 2 แบบ
แบบที่ 1 เกิดจากการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ แรกเริ่มเป็นผื่นแดงและคัน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ มีฐานสีแดง ต่อมากลายเป็นตุ่มหนอง ซึ่งจะแตกง่าย กลายเป็นสีแดง และมีน้ำเหลืองเหนียว ๆ ติดเยิ้ม แล้วกลายเป็นสะเก็ดเหลืองกรังติดอยู่ มีลักษณะคล้ายรอยบุหรี่ เมื่อผื่นอันแรกแตก มักจะมีผื่นบริวารขึ้นตามในบริเวณข้างเคียงหลาย ๆ อัน และอาจลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเกา
บางรายอาจมีไข้ต่ำหรือต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย มักขึ้นตามใบหน้า ใบหู จมูก ปาก ศีรษะ ก้น และบริเวณนอกร่มผ้า (เช่น มือ ขา หัวเข่า) เมื่อหายแล้วจะไม่เป็นแผลเป็น
ถ้าเป็นพุพองที่ศีรษะ ชาวบ้านเรียกว่า ชันนะตุ
แบบที่ 2 เกิดจากการติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัสออเรียส ซึ่งพบได้น้อยกว่าแบบที่ 1 มีอาการพุขึ้นเป็นตุ่มน้ำพอง ฐานไม่แดง ระยะแรกน้ำภายในตุ่มพองมีลักษณะใส ต่อมาจะเริ่มขุ่น แล้วบางตุ่มจะแตก มีน้ำเหลืองแห้งกรังเป็นสีน้ำตาล ในทารกที่ยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ มักมีไข้ และตุ่มน้ำพองมีขนาดใหญ่
2. แผลพุพองชนิดลึก (อาจเกิดจากสแตฟีโลค็อกคัสออเรียส หรือสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอก็ได้) แรกเริ่มขึ้นเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองเล็ก ๆ มีฐานสีแดง แล้วโตขึ้นช้า ๆ มีขนาด 1-3 ซม. ต่อมามีสะเก็ดหนาปกคลุม ลักษณะเป็นสะเก็ดแข็งสีคล้ำติดแน่น ข้างใต้เป็นน้ำหนอง ถ้าเป็นนาน ๆ ขอบแผลจะยกนูนออกเป็นสีคล้ำ เมื่อหายแล้วจะกลายเป็นแผลเป็น มักพบที่บริเวณขา
ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่มักดูแลรักษาให้หายขาด และไม่มีภาวะแทรกซ้อน และส่วนใหญ่ไม่เป็นแผลเป็น ยกเว้นในรายที่เป็นแผลพุพองชนิดลึกที่มักเป็นแผลเป็นเมื่อหายแล้ว
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรกอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เชื้อลุกลามกลายเป็น เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ (cellulitis) และเชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือด ทำให้เป็นโลหิตเป็นพิษได้ ถ้าพบในทารก อาจมีอันตรายร้ายแรงได้
ในรายที่เกิดจากเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ อาจทำให้เป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันได้ (มีอาการไข้สูง บวมทั้งตัว ปัสสาวะสีแดง)
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ในบางรายแพทย์อาจนำหนองจากรอยโรคไปตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. อาบน้ำฟอกด้วยสบู่วันละ 2 ครั้ง และใช้น้ำด่างทับทิมชะล้างเอาคราบสะเก็ดออกไป
สำหรับแผลพุพองที่มีสะเก็ดแข็ง ทำการประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ และชุ่ม ๆ เพื่อให้สะเก็ดนุ่มและหลุดออกเร็ว
2. ถ้าคันมากให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน
3. ทาแผลด้วยขี้ผึ้งเตตราไซคลีน หรือครีมเจนตาไมซิน หรือเจนเชียนไวโอเลต หลังอาบน้ำทุกครั้ง
4. ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี, อีริโทรไมซิน, ไดคล็อกซาซิลลิน, โคอะม็อกซิคลาฟ เป็นต้น เป็นเวลา 5-7 วัน สำหรับเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส
สำหรับเชื้อสเตรปโตค็อกคัสจะให้กินยานาน 10 วัน เพื่อป้องกันโรคหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันใน
สำหรับแผลพุพองชนิดลึก (ที่มีสะเก็ดแข็งสีคล้ำติดแน่น) จะให้กินยานาน 2-3 สัปดาห์
5. ถ้าไม่ดีขึ้นหรือพบในทารก แพทย์จะนำหนองจากรอยโรคไปทำการย้อมเชื้อหรือเพาะเชื้อ และให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่ตรวจพบ
การดูแลตนเอง
หากสงสัยเป็นแผลพุพอง ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นแผลพุพอง ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดยหยุดไปสถานเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียน และพักอยู่ที่บ้านจนกว่าจะไม่แพร่เชื้อ (คือ หลังกินยาปฏิชีวนะได้ 24 ชั่วโมงไปแล้ว), ชะล้างแผลให้สะอาดและใช้ผ้าปิดแผล, หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่, ตัดเล็บให้สั้น, ไม่ใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
มีไข้สูง หนาวสั่น ซึม เบื่ออาหาร เท้าบวม ปัสสาวะเป็นสีแดง หรือมีอาการชัก
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
หมั่นรักษาความสะอาดของผิวหนัง
หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่
ตัดเล็บให้สั้น
หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกแผลพุพองที่ผู้ป่วยเป็น
ไม่ใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้ป่วย
หากมีบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือโรคผิวหนัง (เช่น หิด เหา เริม งูสวัด อีสุกอีใส) ควรให้การดูแล อย่างจริงจัง
ข้อแนะนำ
แผลพุพองชนิดตื้นที่เกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ ควรกินยาปฏิชีวนะให้ครบระยะเวลาตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน