ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: ติ่งเนื้อเมือกจมูก (Nasal polyps)  (อ่าน 19 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 206
  • เครื่องจักรอุตสาหกรรม,สินค้าอุตสาหกรรม
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: ติ่งเนื้อเมือกจมูก (Nasal polyps)
« เมื่อ: วันที่ 31 ตุลาคม 2024, 14:14:26 น. »
Doctor At Home: ติ่งเนื้อเมือกจมูก (Nasal polyps)

ติ่งเนื้อเมือกจมูก (ริดสีดวงจมูก ก็เรียก) เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา (ไม่ใช่มะเร็ง) ที่เกิดจากเซลล์เยื่อเมือก (mucous membrane) ในโพรงจมูกและโพรงไซนัส ซึ่งมักไม่มีอันตรายร้ายแรง

ถ้าเป็นติ่งขนาดเล็กจะไม่มีอาการ แต่ถ้าก้อนโตมากหรือมีจำนวนหลายก้อน ก็อาจอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่สะดวก สูญเสียความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นและรส และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย พบบ่อยในคนอายุมากกว่า 40 ปี และในผู้ที่เป็นโรคหืด หวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง พบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี

ติ่งเนื้อเมือกจมูกมักพบว่าเกิดขึ้นในโพรงจมูกทั้ง 2 ข้าง และมักพบร่วมกับไซนัสอักเสบเรื้อรัง


สาเหตุ

ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด พบว่าโรคนี้มักเกิดในกลุ่มคนที่มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อเมือก (เยื่อบุ) จมูก เนื่องมาจากหวัดภูมิแพ้ การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียของเยื่อจมูก หรือปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อเชื้อราในโพรงไซนัส (allergic fungal sinusitis) บางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ

พบว่าผู้ที่เป็นโรคหืด หวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีภูมิไว (แพ้) ต่อยาแอสไพรินหรือเชื้อรา ภาวะขาดวิตามินดี ป่วยเป็นโรคซิสติกไฟโบรซิส (cystic fibrosis)* หรือมีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นติ่งเนื้อเมือกจมูก มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป

*เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้สารคัดหลั่งของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเหนียวข้นขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหาร ระบบสืบพันธุ์ และอื่น ๆ รวมทั้งติ่งเนื้อเมือกจมูก


อาการ

มีอาการคัดจมูก แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก พูดเสียงขึ้นจมูก ซึ่งเป็นเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี

อาจมีอาการเลือดกำเดาไหลบ่อย จมูกไม่รู้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส หรือนอนกรน

ในรายที่เป็นไซนัสอักเสบร่วมด้วย ก็จะมีอาการของไซนัสอักเสบ เช่น ปวดหน่วงตรงหน้าผาก หัวตา หรือโหนกแก้ม น้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวมีกลิ่นเหม็น มีเสมหะไหลลงคอ ไอ เป็นต้น


ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนมากทำให้มีอาการแน่นจมูกน่ารำคาญ และอาจมีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง โรคหืดกำเริบ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

เมื่อใช้ไฟฉายส่องดูรูจมูก มักจะพบมีติ่งเนื้อเมือกสีค่อนข้างใสอุดกั้นอยู่ในรูจมูก

บางรายแพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การใช้กล้องส่องตรวจจมูก (nasal endoscopy) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจเลือด (ดูระดับวิตามินดีในเลือด) ทำการทดสอบผิวหนัง (skin test) ว่าแพ้สารอะไร เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้าเป็นติ่งเนื้อขนาดเล็ก อาจให้การรักษาด้วยการใช้สตีรอยด์ชนิดพ่นจมูก ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบ และอาจช่วยให้ก้อนเนื้อฝ่อลงได้ บางรายแพทย์อาจให้สตีรอยด์ชนิดกินร่วมด้วย

นอกจากนี้ จะให้การรักษาภาวะที่พบร่วม เช่น ให้ยาแก้แพ้รักษาโรคภูมิแพ้ ให้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคไซนัสอักเสบ ให้วิตามินดีเสริมในรายที่มีภาวะขาดวิตามินดี เป็นต้น

2. ในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผล หรือก้อนโตมาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาติ่งเนื้อเมือกออก

ถ้าเป็นติ่งเนื้อขนาดเล็ก และอยู่นอกโพรงไซนัส การผ่าตัดจะกระทำได้ง่าย ปลอดภัย และมักจะหายขาดได้

แต่ถ้าเป็นติ่งเนื้อที่งอกมาจากโพรงไซนัส อาจต้องทำการผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้องเข้าไปในโพรงไซนัส (endoscopic sinus surgery) ซึ่งเป็นวิธีที่ยุ่งยากขึ้น และเกิดภาวะแทรกซ้อน (เช่น เลือดออก บาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อตาหรือเส้นประสาทตา) และบางรายอาจมีติ่งเนื้องอกขึ้นมาใหม่ได้

ผลการรักษา การรักษาด้วยยาสตีรอยด์ (ชนิดสูดพ่น หรือชนิดกิน) ช่วยให้ก้อนเนื้อฝ่อลงได้ แต่หลังหยุดยาก็อาจกำเริบได้ใหม่ จึงต้องให้ยาเป็นระยะ ๆ ซึ่งแพทย์จะระวังการใช้ยาไม่ให้เกิดผลข้างเคียงตามมา ถ้าจำเป็นก็จะทำการผ่าตัด ซึ่งช่วยให้หายเป็นปกติได้ยาวนาน แต่บางรายก็อาจมีติ่งเนื้องอกใหม่ ซึ่งก็ต้องทำการผ่าตัดใหม่


การดูแลตนเอง

หากมีอาการคัดจมูก แน่นจมูกเรื้อรัง หรือลองกินยาแก้หวัดคัดจมูกแล้วไม่ได้ผล ควรปรึกษาแพทย์

ถ้าพบว่าเป็นติ่งเนื้อเมือกจมูก ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยาชุด ยาลูกกลอนมาใช้เอง เพราะอาจมีตัวยาสตีรอยด์ผสม ซึ่งหากใช้ติดต่อกันนาน ๆ อาจเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงตามมาได้

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีอาการหายใจไม่สะดวก นอนหลับไม่สนิท โรคไซนัสอักเสบหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีอาการกำเริบ หรือสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น)


การป้องกัน

ส่วนใหญ่ยังไม่มีวิธีป้องกัน             

สำหรับผู้ที่เป็นโรคหืด หวัดภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ อาจลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นติ่งเนื้อเมือกจมูกได้ โดยการรักษาโรคเหล่านี้อย่างจริงจัง และป้องกันไม่ให้โรคเหล่านี้กำเริบ (หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้และสิ่งระคายเคือง และรักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง ด้วยการบำรุงด้วยอาหารสุขภาพ ออกกำลังกาย และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ)


ข้อแนะนำ

หากมีอาการเป็นหวัด คัดจมูก แน่นจมูกเรื้อรัง พึงอย่านึกว่าเป็นเพียงอาการเป็นหวัดธรรมดา หากลองกินยาแก้หวัดคัดจมูก 1-2 สัปดาห์แล้วไม่ได้ผล ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องเพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ (ตรวจอาการคัดจมูก/น้ำมูกไหล)