ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: อีดำอีแดง (Scarlet fever)  (อ่าน 74 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 127
  • เครื่องจักรอุตสาหกรรม,สินค้าอุตสาหกรรม
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: อีดำอีแดง (Scarlet fever)
« เมื่อ: วันที่ 6 กันยายน 2024, 18:43:47 น. »
หมอประจำบ้าน: อีดำอีแดง (Scarlet fever)

อีดำอีแดง (ไข้อีดำอีแดง ก็เรียก) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ทำให้มีผื่นแดงขึ้นตามตัวร่วมกับทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในเด็กอายุ 5 -15 ปี ในปัจจุบันพบโรคนี้น้อยลง เนื่องจากผู้ป่วยมักได้รับยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม


สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (group A beta-hemolytic Streptococcus) สายพันธุ์ที่สร้างสารพิษ (erythrogenic exotoxin) ออกมาทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง เชื้อมีอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือโดยการสัมผัสมือผู้ป่วย สิ่งของ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อ

ระยะฟักตัว 2-7 วัน

โรคนี้มักเกิดร่วมกับทอนซิลอักเสบ แต่บางครั้งอาจเกิดร่วมกับการติดเชื้อที่ตำแหน่งอื่น เช่น ผิวหนัง แผลผ่าตัด มดลูก เป็นต้น

อาการ

แรกเริ่มจะมีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอมาก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนร่วมด้วย

1-2 วันหลังมีไข้จะมีผื่นแดงขึ้นที่คอ หน้าอก และรักแร้ แล้วกระจายไปตามลำตัวและแขนขาภายใน 24 ชั่วโมง ผื่นมีลักษณะคล้ายกระดาษทราย อาจมีอาการคัน ต่อมาผื่นจะปรากฏเด่นชัด (เข้มข้น) ในบริเวณร่องหรือรอยพับของผิวหนัง (โดยเฉพาะที่คอ รักแร้ ข้อพับแขน ขาหนีบ ข้อพับขา) แล้วต่อมาในบริเวณเหล่านี้จะปรากฏเป็นจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง ซึ่งเรียงเป็นเส้น (เนื่องจากการแตกของหลอดเลือดฝอย) เรียกว่า “เส้นพาสเตีย (Pastia’s lines)”

ผื่นจะเริ่มจางหายหลังขึ้นได้ 3-4 วัน หลังจากผื่นจางได้ประมาณ 1 สัปดาห์จะมีอาการลอกของผิวหนัง มักเห็นเด่นชัดที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าซึ่งอาจเห็นลอกเป็นแผ่น ส่วนตามลำตัวมักลอกเป็นขุย อาการผิวหนังลอกเป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้ บางรายอาจลอกติดต่อกันนานถึง 6 สัปดาห์


ภาวะแทรกซ้อน

เช่นเดียวกับทอนซิลอักเสบจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ ฝีทอนซิล ข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้รูมาติก หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

มักตรวจพบไข้มากกว่า 38.3 องศาเซลเซียส ทอนซิลบวมแดง และมักมีแผ่นหรือจุดหนองขาว ๆ เหลือง ๆ ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอด้านหน้าหรือใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ

หน้าแดง แต่บริเวณรอบปากซีด

ในช่วง 2 วันแรกของไข้ อาจพบลิ้นมีฝ้าขาวปกคลุมและมีตุ่มแดงยื่นขึ้นเป็นตุ่ม ๆ สลับคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี เรียกว่า ลิ้นสตรอว์เบอร์รีขาว (white strawberry tongue)

ในช่วงหลังวันที่ 4 ของไข้ ฝ้าขาวที่ลิ้นจะลอกเป็นสีแดง ทำให้เห็นเป็นลิ้นสตรอว์เบอร์รีแดง (red strawberry tongue)

ตามผิวหนังจะพบผื่นแดงคล้ายกระดาษทราย และพบเส้นแดงคล้ำตามรอยพับ (เช่น ข้อศอก ขาพับเรียกว่า "เส้นพาสเตีย (Pastia’s lines)") ในช่วงประมาณสัปดาห์แรก และในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ไปแล้วมีอาการผิวหนังลอก

ในรายที่อาการไม่ชัดเจน อาจต้องส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี Rapid strep test, การเพาะเชื้อ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษาแบบเดียวกับทอนซิลอักเสบ

ที่สำคัญ คือ ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี, อะม็อกซีซิลลิน, โคอะม็อกซิคลาฟ, อีริโทรไมซิน, ร็อกซิโทรไมซิน เป็นต้น

ผลการรักษา เมื่อกินยาปฏิชีวนะได้ครบตามที่แพทย์แนะนำ ก็มักจะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้ากินไม่ครบหรือได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา ซึ่งหากกลายเป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน หรือไข้รูมาติก ก็อาจเป็นเรื้อรังหรือมีภาวะร้ายแรงได้


การดูแลตนเอง

หากมีอาการไข้ เจ็บคอ และผื่นขึ้นตามตัว หรือสงสัยว่าเป็นอีดำอีแดง ควรปรึกษาแพทย์ หากตรวจพบว่าเป็นอีดำอีแดง ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้

    พักผ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ ห้ามอาบน้ำเย็น และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง
    กินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป นม น้ำหวาน
    กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชา หรือ 5 มล. ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) วันละ 2-3 ครั้ง
    ถ้าเจ็บคอมากให้ดื่มน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มเย็น ๆ หรืออมก้อนน้ำแข็ง
    กินยาบรรเทาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้) และกินยาปฏิชีวนะ (ในรายที่แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย) ให้ครบตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด
    ติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัด

ควรกลับไปพบแพทย์ หากมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อนี้

    มีอาการผิดสังเกตแทรกซ้อนตามมา เช่น ปวดศีรษะมาก ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชัก ปวดหู หูอื้อ กลืนลำบาก ปวดที่โหนกแก้มหรือหัวคิ้ว หายใจหอบ เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ปวดบวมตามข้อ มีผื่นขึ้นตามตัว เท้าบวม ปัสสาวะสีแดง เป็นต้น
    ดูแลรักษา 3-4 วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้น
    หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

เมื่อมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นอีดำอีแดงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย อย่าใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการไอหรือจามรดผู้อื่น

ข้อแนะนำ

1. ควรเน้นให้กินยาปฏิชีวนะจนครบตามระยะที่กำหนด

2. ควรแยกผู้ป่วย จนกว่าจะให้ยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง จึงจะไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น

3. ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้ หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ (เช่น ไข้ เจ็บคอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล ไอ ท้องเดิน หายใจเหนื่อยหอบ) หรือทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ด้วยตนเองให้ผลเป็นบวก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว